ข้อมูลด้านเศรษฐกิจพอเพียง/รายละเอียด
หมู่บ้านป่ายางก่อตั้งขึ้นเมื่อปี
พ.ศ. 2450 โดยนายเทพ สายศรีวิเลิศ อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
ประมาณ 8 ครอบครัว
เนื่องจากที่อยู่เดิมที่ลำปางมีความลำบากยากแค้นการทำมาหากินไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพได้จึงได้พากันเดินทางโดยอาศัยล้อเกวียนเดินทางขึ้นมาทางเหนือจนถึงที่ตั้งหมู่บ้าน
ณ ปัจจุบัน จึงได้ตั้งหลักปักฐาน เดิมที่ในหมู่บ้านมีต้นยางใหญ่ประมาณ 4 – 5 คนโอบอยู่ 3 ต้น จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านป่ายางสามต้น”
ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น “บ้านป่ายาง” เพื่อความเหมาะสม
และต่อมาได้มีราษฎรจากอำเภอแม่ทะได้อพยพติดตามมาอาศัยอยู่เรื่อยๆ
จนกลายเป็นหมู่บ้าน ปัจจุบันบ้านป่ายางสังกัดอยู่หมู่ 2 ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
จากการได้พูดคุยกับคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนต้นแบบธ.ก.ส.บ้านป่ายาง พ่อกำนันเกษม วงค์สุภา กล่าวว่า “เราพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในทุกด้าน จุดเด่นคือเราพัฒนาคน พัฒนาจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียว โดยการใช้ ‘บวร’ วัด บ้าน โรงเรียน ใช้ 3 ฝ่ายช่วยกัน ชาวบ้านบ้านป่ายางนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด ชาวบ้านมีความรักสามัคคีมีวัดเป็นเครื่องยึดเหนียวจิตใจ เน้นการมีส่วนร่วม เมื่อทุกคนมีใจไปในแนวทางเดียวกันก็จะพัฒนาได้ง่าย ” ผู้นำชุมชนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในหลายพื้นที่ จึงได้น้อมนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาปรับใช้และปฏิบัติในชุมชนเพราะเชื่อว่า หากทุกคนในชุมชนสามารถปฏิบัติได้ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ และช่วยเพิ่มความพอมี พอกิน พอใช้ ของชาวบ้านควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายใต้แนวคิดที่ว่า“การให้ทุกคนในชุมชนมีความพอประมาณ มีเหตุผล รวมถึงมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในชุมชน โดยอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานทุกขั้นตอน” แนวทางการพัฒนา ผู้นำในชุมชนบ้านป่ายางเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ ให้กับชาวบ้านในทุกๆด้าน และการให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่เพื่อมาสืบสานภูมิปัญญาการจักสานและการประกอบอาชีพ จะเห็นได้ว่ามีคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบมาหันมาทำนาทำสวน อยู่กับครอบครัวและมาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในชุมชน
ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและความรู้ด้านวิชาการต่างๆ ทำให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักในการร่วมกันใช้หลักบันได 3 ขั้นของการพัฒนา คือ พึ่งพาตนเอง พึ่งพาซึ่งกันและกัน และการสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาในอนาคต การที่ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการ โดยการระดมความคิดเห็นค้นหาปัญหา และหาคำตอบส่งผล ให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างมีระบบ การให้ความรู้กับชุมชนและลงมือปฏิบัติไปพร้อมกับชุมชน เช่น ร่วมกับชาวบ้านปลูกป่าชุมชน ร่วมกับชาวบ้านสร้างฝายชะลอน้ำ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชาวบ้านไปพร้อมๆกัน ทำให้ชุมชนบ้านป่ายางมีความรักสามัคคี ใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น เน้นเกษตรอินทรีย์ เป็นหมู่บ้านปลอดหนี้นอกระบบ ครบวงจรด้านการเกษตร รู้เหตุแห่งปัญหา พัฒนาแบบองค์รวม วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ ประชาธิปไตยก้าวหน้า ล้ำค่าวัฒนธรรม น้อมนำความคิดเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ ทำให้ชีวิต มั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน
เอกสารเพิ่มเติมที่ Download ได้